คอนโดเสร็จแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเราจะย้ายเข้าได้เลยนะคะ เราต้องมีการ ตรวจรับคอนโด ที่เราซื้อก่อนที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ เพราะงั้นเรื่องที่ยากกว่าการยื่นกู้ธนาคารก็คงเป็นขั้นตอนการตรวจคอนโดก่อนจะรับคอนโดมาเป็ยของตัวเองนี่แหล่ะค่ะ เพราะถ้าตรวจไม่ดีแล้วรับโอนมาเลย หากมีปัญหาภายหลัง หรือต้องแก้ไขอะไร อาจจะทำให้ยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามมา วันนี้เราก็เลยนำ เช็กลิสต์สิง่ที่ต้องทำก่อนรับโอนคอนโดมาฝากกัน

วิธีตรวจรับคอนโด เช็กให้ชัวร์ก่อนรับโอน

ตรวจรับคอนโด

อุปกรณ์ที่ต้องเตรียมก่อนตรวจคอนโด

1. โพสต์อิท ไว้สำหรับแปะจุดที่ต้องการให้ซ่อมแซม จะทำให้ชัดเจนขึ้น (เมื่อแปะเสร็จ ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน)

2. สายชาร์จแบต ใช้สำหรับวัดไฟ

3. ลูกแก้ว สำหรับตรวจสอบความลาดเอียงของพื้น

4. เหรียญ ไว้เคาะพื้น เคาะกระเบื้อง

5. ถังน้ำ ทดสอบการลาดเอียงของพื้นที่ในห้องน้ำ และระเบียง เพราะถ้าโครงการไม่ทำห้องให้ลาดเอียงในองศาที่น้ำจะไหลลงสู่ท่อระบายน้ำ น้ำจะค้างตามพื้น ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว

6. กล้องถ่ายรูป/มือถือ เพื่อถ่ายเก็บภาพทุกอย่างอย่างละเอียด

ตรวจรับคอนโด

ตรวจงานพื้น ผนัง ประตูหน้าต่าง และเพดาน

ถือเป็นงานกลุ่มแรกที่สามารถตรวจได้ เพราะปัญหาหลายๆ ส่วนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ขณะเดียวกัน ก็มีงานบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่มักมีปัญหาอยู่เสมอ งานกลุ่มนี้มีจุดที่ต้องตรวจเช็กหลักๆ ดังนี้

– งานพื้น กรณีเป็นลามิเนต ตรวจสอบว่าพื้นบวมหรือมีจุดไหนที่เคาะแล้วเป็นโพรงหรือไม่ ติดตั้งได้เท่ากัน ไม่มีตรงไหนที่เดินแล้วสะดุด ใช้ลูกแก้วตรวจสอบดูว่าปูได้เสมอกัน ไม่มีส่วนไหนเป็นหลุมหรือลาดเอียง กรณีกระเบื้องระเบียงและห้องน้ำ ให้ตรวจสอบว่าเมื่อเทน้ำราดพื้นแล้ว น้ำสามารถระบายได้ดีและรวดเร็วหรือไม่ ที่สำคัญเทน้ำราดพื้นแล้วต้องไม่มีน้ำขัง

– งานผนัง ตรวจสอบรอยฉาบว่าทำได้เรียบหรือไม่ มีรอยร้าวตรงไหน สีที่ทานั้นทาได้สม่ำเสมอหรือเกิดรอยด่างตรงไหน เป็นสีตามแบบที่กำหนดหรือไม่ กรณีเป็นวอลเปเปอร์ ให้ลองไล่ลูบผนังดูเพื่อตรวจสอบภายในว่าฉาบผนังเรียบหรือไม่ ติดวอลเปเปอร์เนียนแล้วหรือยัง และดูว่าวอลเปเปอร์มีรอยฉีกขาดหรือรอยต่อตรงไหนที่ทำได้ไม่ดีหรือไม่ บัวเชิงผนังก็ต้องมีความต่อเนื่อง กรณีผนังกระเบื้องในห้องน้ำ ต้องตรวจสอบด้วยการเคาะเหรียญว่าปูเต็มแผ่น ไม่มีเสียงกลวงด้านใน

– งานประตูหน้าต่าง ตรวจสอบตั้งแต่การเปิดปิดปกติ ว่าสามารถเปิดปิดได้สนิทโดยไม่มีเสียงดัง ปัญหาฝืด เอียง ตรวจสอบลูกบิดว่ายึดกับประตูแน่น ตรวจสอบบานพับ ตรวจสอบกลอนประตูหน้าต่าง ตรวจสอบกระจกบานเลื่อนว่าไม่มีรอยร้าว และสามารถเลื่อนได้โดยไม่ฝืดหรือตกราง และดูว่ามีสีทาเลยมาโดนประตูหน้าต่างหรือไม่

– งานเพดาน ตรวจสอบความสูงจากพื้นถึงเพดานว่าเป็นไปตามที่ระบุในสัญญาหรือไม่ ตรวจสอบระดับฝ้าว่าไม่มีรอยแตกร้าว หรือสีด่าง คราบน้ำที่มาจากการรั่วซึมของห้องด้านบน

วิธีการตรวจรับคอนโด

ตรวจระบบน้ำและสุขาภิบาล

เป็นระบบที่หากไม่ตรวจให้ดี คอนโดจะไม่โอเคมากๆ เพราะมักจะกระทบกับเรื่องสุขอนามัย ดังนั้นนอกจากจะตรวจเช็กห้องน้ำผ่านงานพื้นและผนังแล้ว ยังต้องตรวจสอบระบบน้ำอื่นๆ ให้ครบถ้วน

สายฉีด ฝักบัว และก๊อกน้ำทุกจุด  :  ตรวจสอบดูว่าเมื่อเปิดใช้งานพร้อมกัน แรงดันน้ำไม่ตก และน้ำไหลแรงพอทุกจุด

อ่างซิงค์และอ่างล้างจาน :  ไม่มีรอยรั่วซึม ไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ และสามารถระบายน้ำได้ ไม่อุดตัน

ระบบเครื่องทำน้ำอุ่น  :  ตรวจสอบว่าไม่รั่วและมีการติดตั้งสายดิน

ท่อน้ำทิ้งจากเครื่องปรับอากาศ :   ตรวจสอบว่าสามารถทำงานได้ปกติ

ตรวจรับคอนโด

ตรวจระบบไฟฟ้า

เป็นส่วนที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาช่วย โดยมีสิ่งที่ต้องตรวจสอบหลักๆ ดังนี้

เต้าเสียบทุกจุด  : ตรวจสอบว่าไฟทำงานได้ทุกจุดหรือไม่ โดยอาจใช้สายชาร์จแบตฯมือถือ หรือไขควงวัดไฟ

สวิตช์ไฟทุกจุด  : ตรวจสอบว่าเปิดติดทุกจุดหรือไม่

ระบบสัญญาณโทรศัพท์  :  ตรวจสอบว่าใช้งานได้หรือไม่

เครื่องใช้ไฟฟ้าที่แถมมา  : ตรวจดูว่าชำรุดหรือไม่ โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ ต้องตรวจด้วยว่าเป็นของใหม่และไม่มีเสียงดังผิดปกติ

ตรวจคอนโด

ตรวจเฟอร์นิเจอร์บิลต์-อิน

เฟอร์นิเจอร์บิลต์-อินมักเป็นสิ่งที่คอนโดฯสั่งมาเป็นล็อตใหญ่ ทำให้สินค้าบางชิ้นมีโอกาสชำรุดได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นตู้บิลต์-อิน ครัวบิลต์-อินต่างๆ ก็จำเป็นต้องดูว่าประกอบมาเรียบร้อย สามารถใช้งานได้ปกติหรือไม่

 

สรุป

ทั้งหมดนี้คือเช็กลิสต์จุดที่สำคัญๆ ในการตรวจรับคอนโดที่เรานำมาฝากทุกท่านกันค่ะ สำหรับใครที่เห็นแล้วรู้สึกว่ายุ่งยากจัง ไม่อยากตรวจเอง ตรวจเองไม่เป็น ก็สามารถที่จะจ้างที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญจาก Homeinspector ในการตรวจรับได้นะคะ แต่ไม่ว่าจะตรวจเองหรือจ้างมาตรวจ สิ่งสำคัญคือความละเอียด รอบคอบ เช็กให้แน่ใจก่อนเซ็นต์รับโอนกรรมสิทธิ์มาค่ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *